อันตรายของแผลกดทับ

แผลกดทับ คือแผลที่เกิดจากการกด ทับ หรือเสียดสีของผิวหนังบริเวณนั้นๆ ทำให้การไหลเวียนของเลือดไปยังเนื้อเยื่อบริเวณนั้นผิดปกติไป คือน้อยเกินไปจนเกิดการสะสมของของเสีย ของเสียคั่ง ทำให้เกิดการบาดเจ็บของเซลล์ แผลกดทับสามารถเป็นได้ตั้งแต่มีรอยแดง ชา หรือรู้สึกเจ็บผิดปกติ ไปจนถึงเป็นแผลเปิด และรุนแรงจนเกิดเนื้อตาย หรือลุกลามถึงกระดูกก็มี

แผลกดทับ 4 ระยะที่ต้องรู้

  • ระยะที่ 1 เริ่มปรากฏเป็นรอยแดงหรือรอยคล้ำบนผิวหนัง แต่ผิวจะยังไม่มีรอยแยก ไม่ฉีกขาดจากกัน
  • ระยะที่ 2 เริ่มเกิดเป็นแผลตื้น ผิวหนังเริ่มพอง เริ่มเป็นตุ่มน้ำใส
  • ระยะที่ 3 ปรากฏแผลเป็นรอยลึกถึงชั้นไขมัน ชั้นผิวหนังบริเวณแผลทั้งหมดถูกทำลาย
  • ระยะที่ 4 ปรากฏเป็นแผลลึกมองเห็นถึงกระดูก เอ็น กล้ามเนื้อ เนื่องจากผิวหนังถูกทำลายอย่างร้ายแรง

ส่วนแผลกดทับที่เป็นเนื้อสีซีด หรือดำคล้ำ จัดเป็นแผลที่ยังไม่ระบุระยะ (UnStage) และโดยมากเนื้อตายภายใต้รอยดำคล้ำเหล่านั้นมักกินลึกถึงไขมันหรือกล้ามเนื้อเป็นต้นไปแล้ว  ภายนอกอาจดูแห้ง แต่การตายจะลึกลงเรื่อยๆ ถ้าไม่รีบรักษาโดยเร็ว

อันตรายของแผลกดทับ

หากละเลย หรือไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกวิธี ก็จะกลายเป็นเนื้อตายที่สามารถลุกลามเป็นบริเวณกว้างและลึกได้ในเวลาไม่นาน จนอาจทำให้สูญเสียอวัยวะ หรือติดเชื้อจนส่งผลให้การทำงานของอวัยวะภายในล้มเหลว และเสียชีวิตได้ในที่สุด

ใครบ้างที่ต้องระวังการเกิดแผลกดทับ

  • คนที่ไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้เป็นปกติ เช่น มีภาวะอ่อนแรง อัมพฤกษ์ อัมพาตผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง รวมไปถึงผู้ที่จำเป็นต้องสวมใส่เฝือก สอดสายอุปกรณ์ช่วยเหลือต่างๆ เป็นระยะเวลานาน
  • คนที่รับรู้ความรู้สึกตามอวัยวะต่างๆ ได้ไม่สมบูรณ์ เช่น มีอาการชาตามปลายมือปลายเท้าในผู้ที่เป็นเบาหวาน หรือในผู้ที่เคยเข้ารับการผ่าตัดสมอง กระดูก หรือเส้นประสาทต่างๆ ก็มีโอกาสเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น

นอกจากการกดทับหรือเสียดสีกันของผิวหนังกับพื้นผิวต่างๆ แล้ว ความชื้นก็เป็นอีกตัวการสำคัญที่เพิ่มความเสี่ยงการเป็นแผลกดทับได้ ไม่ว่าจะการชื้นและระคายเคือง (irritation) จากเหงื่อ ปัสสาวะ อุจจาระ เพราะความชื้นจะทำให้ผิวหนังบริเวณที่ชื้นแฉะเปื่อย ลอก อักเสบ และตายมากขึ้น

แผลกดทับหายได้ แต่ก็มีโอกาสเป็นซ้ำเพราะแผลกดทับส่วนใหญ่ เกิดจากการกดทับซ้ำๆ หากมีการปรับเปลี่ยนท่าทาง หรืออุปกรณ์ไม่ให้กดซ้ำบริเวณเดิมนานๆ และมีการดูแลแผลอย่างถูกวิธี ก็มีโอกาสที่แผลจะหายกลับเป็นปกติได้ แต่ในทางกลับกันก็สามารถกลับมาเป็นซ้ำได้

การป้องกันการเกิดแผลกดทับ

  • หลีกเลี่ยงการกดทับซ้ำๆ บริเวณแผล แปะเทปติดสายต่างๆ แบบไม่กดแน่นผิวหนัง เปลี่ยนตำแหน่งท่าทางร่างกายบ่อยๆ ใช้หมอนหนุนรอยแผลและปุ่มกระดูกต่างๆ
  • หากมีโรคประจำตัว แนะนำให้คุมโรคให้ดี เช่น คุมน้ำตาลในเบาหวาน ปรับยารักษาโรคหัวใจ ตับ ไต ยาบำรุงเลือด เพิ่มอาหารให้มีโภชนาการที่ดี ปรับยา วิตามิน
  • ดูแลแผลให้สะอาด เลือกวัสดุแปะแผลที่เหมาะสม
  • ควรพลิกตัว ปรับเปลี่ยนท่าทางทุก 2 ชั่วโมง
  • หากมีอาการผิดสังเกตหรือแผลที่เป็นไม่ดีขึ้นภายใน 48 ชั่วโมง ควรรีบพบแพทย์ทันที

Loading